วันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2550

torritory (อาณาจักร) Sukhothai (สุโขทัย)

วัดเขาพระบาทน้อย และพระเจดีย์ (ไม้เครื่องบนบางส่วนหลงเหลืออยู่)


ประวัติ
เดิมที สุโขทัย เป็นสถานีการค้าของ
แคว้นละโว้ (ลวรัฐ) ของอาณาจักรขอม บนเส้นทางการค้าผ่านคาบสมุทรระหว่างอ่าวเมาะตะมะ กับเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง (ประเทศลาว) คาดว่าเริ่มตั้งเป็นสถานีการค้าในราวพุทธศักราช 1700 ในรัชสมัยของพระยาธรรมิกราช กษัตริย์ละโว้ โดยมีพ่อขุนศรีนาวนำถม เป็นผู้ปกครองและดูแลกิจการภายในเมืองสุโขทัย และศรีสัชนาลัย ต่อมาเมื่อพ่อขุนศรีนาวนำถมสวรรคต ขอมสบาดโขลญลำพง ซึ่งเป็นคล้ายๆกับผู้ตรวจราชการจากลวรัฐ เข้าทำการยึดอำนาจการปกครองสุโขทัย จึงส่งผลให้ พ่อขุนผาเมือง (พระราชโอรสของพ่อขุนศรีนาวนำถม) เจ้าเมืองราด และ พ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง ตัดสินพระทัยจะยึดดินแดนคืน การชิงเอาอำนาจจากผู้ครองเดิมคือ อาณาจักรขอม เมื่อปี พ.ศ. 1781 และสถาปนาเอกราช ให้กรุงสุโขทัยขึ้นเป็นราชธานีของชาวไทย โดยไม่ขึ้นตรงกับรัฐใด
และ
พ่อขุนผาเมือง ก็กลับยกเมืองสุโขทัย ให้พ่อขุนบางกลางหาวครอง พร้อมทั้ง พระแสงขรรค์ชัยศรี และพระนาม กำมรเตงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์ ซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงพระราชทานให้พ่อขุนผาเมืองก่อนหน้านี้ โดยคาดว่า เหตุผลคือพ่อขุนผาเมืองมีพระนางสิขรเทวีพระมเหสี (ราชธิดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7) ซึ่งพระองค์เกรงว่าชาวสุโขทัยจะไม่ยอมรับ แต่ก็กลัวว่าทางขอมจะไม่ไว้ใจจึงมอบพระนามพระราชทาน และพระแสงขรรค์ชัยศรี ขึ้นบรมราชาภิเษก พ่อขุนบางกลางหาว ให้เป็นกษัตริย์ เพื่อเป็นการตบตาราชสำนักขอม

อาณาจักรสุโขทัย
หลังจากมีการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้นเป็นราชธานี และมีพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นปฐมกษัตริย์แล้ว พระองค์ทรงดูแลพระราชอาณาจักร และบำรุงราษฏรเป็นอย่างดี
พระมหากษัตริย์พระองค์ที่สาม
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงพระปรีชาสามารถทั้งในด้านนิรุกติศาสตร์ การปกครอง กฎหมาย วิศวกรรม ศาสนา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นต้น ผลงานของพระองค์ที่ปรากฏให้เห็น อาทิ ศิลาจารึกที่ค้นพบในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่อธิบายถึงความเป็นมา ลีลาชีวิตของชาวสุโขทัยโบราณ น้ำพระทัยของพระมหากษัตริย์ การพิพากษาอรรถคดี ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีผลงานทางวิศวกรรมชลประทาน คือ เขื่อนสรีดภงค์ที่เป็นการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามแล้ง มีการทำท่อส่งน้ำจากตัวเขื่อนมาใช้ในเมือง
พระมหากษัตริย์ที่ทรงทำนุบำรุงศาสนามากที่สุดคือ
พระเจ้าลิไท ในรัชสมัยของพระองค์มีการสร้างวัดมากที่สุด กษัตริย์พระองค์สุดท้ายคือ พระมหาธรรมราชาที่ 4 หรือ บรมปาล และถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา ในที่สุด
1. ด้านเศรษฐกิจ สภาพเศรษฐกิจสมัยสุโขทัยเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ดังข้อความปรากฏในหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 "…ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงินค้าทองค้า…" และ "...เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลาในนามีข้าว..." ประชาชนประกอบอาชีพเกษตรกรรมด้วยระบบการเกษตรแบบพึ่งพาธรรมชาติ เช่นสังคมไทยส่วนใหญ่ในชนบทปัจจุบัน
2. ด้านสังคม ความเชื่อ และศาสนา การใช้ชีวิตของผู้คนในสมัยสุโขทัยมีความอิสระเสรี มีเสรีภาพอย่างมากเนื่องจากผู้ปกครองรัฐให้อิสระแก่ไพร่ฟ้า และปกครองผู้ใต้ปกครองแบบพ่อกับลูก ดังปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกว่า "…ด้วยเสียงพาทย์ เสียงพิณ เสียงเลื่อน เสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื่อน เลื่อน…"
ด้านความเชื่อและศาสนา สังคมยุคสุโขทัยประชาชนมีความเชื่อทั้งเรื่องวิญญาณนิยม (Animism) ไสยศาสตร์ ศาสนาพราหมณ์ฮินดู และพุทธศาสนา ดังปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 3 ว่า "…เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้มีกุฎิวิหารปู่ครูอยู่ มีสรีดพงส์ มีป่าพร้าว ป่าลาง ป่าม่วง ป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขระพุงผี เทพยาดาในเขาอันนั้นเป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ว ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยว เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดี พลีบ่ถูก ผีในเขาอันนั้นบ่คุ้มบ่เกรง เมืองนี้หาย…"
ส่วนด้านศาสนา ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์จากนครศรีธรรมราช ในวันพระ จะมีภิกษุเทศนาสั่งสอน ณ ลานธรรมในสวนตาล โดยใช้
พระแท่นมนังคศิลาอาสน์ เป็นอาสนะสงฆ์ ในการบรรยายธรรมให้ประชาชนฟัง ยังผลให้ประชาชนในยุคนี้นิยมปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม มีการถือศีล โอยทานกันเป็นปกติวิสัย ทำให้สังคมโดยรวมมีความสงบสุขร่มเย็น
3. ด้านการปกครอง ด้านการปกครองสามารถแยกกล่าวเป็น 2 แนว ดังนี้ ในแนวราบ จัดการปกครองแบบพ่อปกครองลูก กล่าวคือผู้ปกครองจะมีความใกล้ชิดกับประชาชน ให้ความเป็นกันเองและความยุติธรรมกับประชาชนเป็นอย่างมาก เมื่อประชาชนเกิดความเดือดร้อนไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนกับพ่อขุนโดยตรงได้ โดยไปสั่นกระดิ่งที่แขวนไว้ที่หน้าประตูที่ประทับ ดังข้อความในศิลาจารึกปรากฏว่า "…ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้าใส…" นั่นคือเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถมาสั่นกระดิ่งเพื่อแจ้งข้อร้องเรียนได้ ในแนวดิ่ง ได้มีการจัดระบบการปกครองขึ้นเป็น 4 ชนชั้น คือ
1) พ่อขุน เป็นชนชั้นผู้ปกครอง อาจเรียกชื่ออย่างอื่น เช่น เจ้าเมือง พระมหาธรรมราชา หากมีโอรสก็จะเรียก "ลูกเจ้า"
2) ลุกขุน เป็นข้าราชบริพาร ข้าราชการที่มีตำแหน่งหน้าที่ช่วงปกครองเมืองหลวง หัวเมืองใหญ่น้อย และภายในราชสำนัก เป็นกลุ่มคนที่ใกล้ชิดและได้รับการไว้วางใจจากเจ้าเมืองให้ปฏิบัติหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ไพร่ฟ้า
3) ไพร่หรือสามัญชน ได้แก่ราษฎรทั่วไปที่อยู่ในราชอาณาจักร (ไพร่ฟ้า)
4) ทาส ได้แก่ชนชั้นที่ไม่มีอิสระในการดำรงชีวิตอย่างสามัญชนหรือไพร่ (อย่างไรก็ตามประเด็นทาสนี้ยังคงถกเถียงกันอยู่ว่ามีหรือไม่)

ความสัมพันธ์กับต่างชาติ
จักรวรรดิมองโกล
กองทัพ
จักรวรรดิมองโกลแผ่แสนยานุภาพโดดเด่นที่สุดเป็นช่วงเดียวกับการตั้งกรุงสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1800 (1257) ซึ่งเป็นอาณาจักรของตนอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก
หลักฐานสำคัญในพงศาวดารหงวนฉบับเก่า เล่มที่ 2 แปลเรื่องราวการติดต่อระหว่างอาณาจักรสุโขทัยกับราชวงศ์มองโกลได้สรุปไว้ว่ากุบไลข่านทรงปรึกษาขุนนางข้าราชการระดับสูงเกี่ยวกับการเตรียมทัพไปปราบปรามแคว้นต่างๆ ทางใต้ มีสุโขทัย ละโว้ สุมาตรา และอื่นๆ เป็นเมืองขึ้น ปรากฏว่าขุนนางชื่อ เจี่ย หลู่ น่าต๋าไม่เห็นด้วยและได้กราบบังคมทูลเสนอแนะให้ทรงชักชวนให้ผู้นำดินแดนต่างๆ อ่อนน้อมยอมสนับสนุนก่อน หากไม่ยอมจึงยกกองทัพไปโจมตี นี่คือเหตุผลประการหนึ่งที่กุบไลข่านทรงส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรี และขอให้ส่งเครื่องราชบรรณาการไปยังราชสำนักมองโกล เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออาณาจักรมองโกล ปราฏว่ามีอาณาจักรในดินแดนต่างๆ กว่า 20 อาณาจักรยอมรับข้อเสนอ รวมทั้งอาณาจักรสุโขทัยด้วย (ช่วงระหว่างประมาณ พ.ศ. 1822 - 1825)
พงศาวดารหงวนฉบับเก่า เล่มที่ 12 เป็นหลักฐานสำคัญที่กล่าวถึงคณะทูตชุดแรกจากอาณาจักรมองโกลในสมัยกุบไลข่าน เดินทางมายังอาณาจักรสุโขทัยในเดือนพฤศจิกายนปี พ.ศ. 1825 (ค.ศ. 1282) ทูตคณะนี้นำโดยเหอจี จี่ นายทหารระดับสูงเป็นหัวหน้าคณะ แต่ขณะนังเรือแล่นผ่านฝั่งทะเลอาณาจักรจามปา ได้ถูกจับกุมและถูกประหารชีวิต ผลจากคณะทูตนี้ถูกประหารชีวิตก่อนจะเดินทางไปยังอาณาจักรสุโขทัยทำให้อาณาจักรสุโขทัยไม่ทราบว่ามองโกลพยายามส่งทูตมาติดต่อ
พงศาวดารหงวนฉบับเก่า เล่มที่ 17 กล่าวถึงคณะทูตมองโกลชุดที่สองเดินทางมายังอาณาจักรสุโขทัยในปี พ.ศ. 1835 (ค.ศ. 1292) ภายหลังจากข้าหลวงใหญ่ฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยของมณฑลกวางตุ้ง ได้ส่งคนอัญเชิญพระราชสาส์นอักษรทองคำของกษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัยไปยังนครหลวงข่านมาลิก (ต้าตู หรือปักกิ่งปัจจุบัน) คณะทูตมองโกลชุดที่สองได้อัญเชิญพระบรมราชโองการของกุบไลข่านให้พ่อขุนรามคำแหงเสร็จไปเฝ้า พระบรมราชโองการนี้แสดงให้เห็นนโยบายของอาณาจักรมองโกลเรียกร้องให้ผู้นำของอาณาจักรต่างๆ ไปเฝ้ากุบไลข่าน แต่มิได้บังคับให้เป็นไปตามนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าพ่อขุนรามคำแหงก็มิได้ปฏิบัติตามแต่ประการใด
พงศาวดารหงวนฉบับเก่า เล่มที่ 18 กุบไลข่านได้ส่งคณะทูตชุดที่สามมาสุโขทัย โดยได้อัญเชิญพระบรมราชโองการให้พ่อขุนรามคำแหงเสด็จไปเฝ้า หากมีเหตุขัดข้องให้ส่งโอรสหรือพระอนุชาและอำมาตย์ผู้ใหญ่เป็นตัวประกัน ซึ่งปรากฏว่าพ่อขุนรามคำแหงก็มิได้ปฏิบัติตาม แต่ส่งคณะทูตนำเครื่องราชบรรณาการไปแทน
อาณาจักรล้านนา
ในปี พ.ศ. 1839
พญามังราย(พ.ศ. 1804 - 1854) ได้มีคำสั่งให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่าเจียงใหม่(เชียงใหม่) เพื่อที่จะเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของอาณาจักรล้านนา ครั้งนั้นพ่อขุนรามคำแหงมหาราชและพญางำเมือง ได้เสด็จมาช่วยด้วย
อาณาจักรอยุธยา
หลังจากมีการก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา แรกนั้นสุโขทัยและอยุธยาไม่ได้เป็นไมตรีต่อกัน แต่ด้วยชัยภูมิที่เหมาะสมกว่า ทำให้อยุธยาเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ประกอบกับปัญหาการเมืองภายในของสุโขทัยมิได้เป็นไปโดยสงบ มีการแย่งชิงราชสมบัติกันระหว่าง พระยาบานเมือง พระยาราม ยังผลให้อยุธยาสบโอกาสเข้าแทรกแทรงกิจการภายใน ในรัชกาลนี้มีการรับไมตรีจากอยุธยาโดยการสมรสระหว่าง
ราชวงศ์พระร่วง กับราชวงศ์สุพรรณภูมิ โดยมีพระราเมศวร ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นราชบุตรจากสองราชวงศ์
จนสิ้นรัชกาล
พระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) พระยายุทธิษฐิระซึ่่งเดิมทีอยู่ศรีสัชนาลัย ได้เข้ามาครองเมืองสุโขทัย และเมื่อแรกที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จขึ้นผ่านภิภพ เป็นพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ปรากฏว่าขณะนั้น พระยายุทธิษฐิระ เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ที่ได้ครองเพียงสุโขทัย เนื่องด้วย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงเคยดำริไว้สมัยทรงพระเยาว์ว่า หากได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ จะชุบเลี้ยงพระยายุทธิษฐิระให้ได้เป็นใหญ่ในกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2011 พระยายุทธิษฐิระจึงเอาใจออกห่างจากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ไปขึ้นกับ พระยาติโลกราช กษัตริย์ล้านนาในขณะนั้น เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดการเฉลิมพระนามกษัตริย์ล้านนา จากพระยา เป็น พระเจ้า เพื่อให้เสมอศักดิ์ด้วยกรุงศรีอยุธยา พระนามพระยาติโลกราช จึงได้รับการเฉลิมเป็นพระเจ้าติโลกราช
หลังจากที่พระยายุทธิษฐิระ นำสุโขทัยออกจากอยุธยาไปขึ้นกับล้านนา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงทรงเสด็จจากกรุงศรีอยุธยา กลับมาพำนัก ณ เมืองสรลวงสองแคว พร้อมทั้งสร้างกำแพงและค่ายคู ประตู หอรบ แล้วจึงสถาปนาขึ้นเป็นเมือง พระพิษณุโลกสองแคว เป็นราชธานีฝ่ายเหนือของอาณาจักรแทนสุโขทัย ในเวลาเจ็ดเดือนให้หลัง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงทรงตีเอาสุโขทัยคืนได้ แต่เหตุการณ์ทางเมืองเหนือยังไม่เข้าสู่ภาวะที่น่าไว้วางใจ จึงทรงตัดสินพระทัยพำนักยังนครพระพิษณุโลกสองแควต่อจนสิ้นรัชกาล ส่วนทางอยุธยานั้น ทรงได้สถาปนาสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 พระราชโอรส เป็นพระมหาอุปราช ดูแลอยุธยาและหัวเมืองฝ่ายใต้
ด้วยความที่เป็นคนละประเทศมาก่อน และมีสงครามอยู่ด้วยกัน ชาวบ้านระหว่างสุโขทัยและอยุธยา จึงมิได้ปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน จึงต้องแยกปกครอง โดยพระมหากษัตริย์อยุธยา จะทรงสถาปนาพระราชโอรส หรือพระอนุชา หรือพระญาติ อันมีเชื้อสายสุโขทัย ปกครองพิษณุโลกในฐานะราชธานีฝ่ายเหนือ และควบคุม
หัวเมืองเหนือทั้งหมด
พ.ศ. 2127 หลังจากชนะศึกที่แม่น้ำสะโตงแล้ว พระนเรศวรโปรดให้เทครัวเมืองเหนือทั้งปวง(ตาก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย พิษณุโลก กำแพงเพชร ชัยบุรี ศรีเทพ) ลงมาไว้ที่อยุธยา เพื่อเตรียมรับศึกใหญ่ พิษณุโลกและหัวเมืองเหนือทั้งหมดจึงกลายเป็นเมืองร้าง หลังจากเทครัวไปเมืองใต้ จึงสิ้นสุดการแบ่งแยกระหว่างชาวเมืองเหนือ กับชาวเมืองใต้ และถือเป็นการสิ้นสุดของรัฐสุโขมัยโดยสมบูรณ์ เพราะหลังจากนี้ 8 ปี พิษณุโลกได้ถูกฟื้นฟูอีครั้ง แต่ถือเป็นเมืองเอกในราชอาณาจักร มิใช่ราชธานีฝ่ายเหนือ
ในด้านวิชาการ มีนักวิชาการหลายท่านได้เสนอเพิ่มว่า เหตุการณ์อีกประการ อันทำให้ต้องเทครัวเมืองเหนือทั้งปวงโดยเฉพาะพิษณุโลกนั้น อยู่ที่เหตุการณ์
แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ บนรอยเลื่อนวังเจ้า ในราวพุทธศักราช 2127 แผ่นดินไหวครั้งนี้ส่งผลให้ตัวเมืองพิษณุโลกราพณาสูญ แม้้แต่แม่น้ำแควน้อย ก็เปลี่ยนเส้นทางไม่ผ่านเมืองพิษณุโลก แต่ไปบรรจบกับแม่น้ำโพ (ปัจจุบันคือแม่น้ำน่าน) ที่เหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นไป และยังส่งผลให้พระศรีรัตนมหาธาตุพิษณุโลก หักพังทลายในลักษณะที่บูรณะคืนได้ยาก ในการฟื้นฟูจึงกลายเป็นการสร้างพระปรางค์แบบอยุธยาครอบทับลงไปแทน


รายพระนามพระมหากษัตริย์สุโขทัย
ราชวงศ์นำถุม (ราชวงศ์ผาเมือง)
พ่อขุนศรีนาวนำถุม ครองราชย์ปีใดไม่ปรากฏ - พ.ศ. 1724
ขอมสบาดโขลญลำพง
ขอมสบาดโขลญลำพง (พ.ศ. 1724 - พ.ศ. 1780)
ราชวงศ์พระร่วง
พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (พ.ศ. 1780- สวรรคตปีใดไม่ปรากฏ (ประมาณ พ.ศ. 1801) )
พ่อขุนบานเมือง (หลังพ่อขุนศรีอินทราทิตย์สวรรคต - พ.ศ. 1822)
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช (พ.ศ. 1822 - พ.ศ. 1842) (ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เรียกว่า พ่อขุนรามราช)
ปู่ไสสงคราม (รักษาราชการชั่วคราวแทน พญาเลอไท ซึ่งขณะนั้นไม่ได้อยู่ในเมืองสุโขทัย)
พญาเลอไท (พ.ศ. 1842 - พ.ศ. 1833)
พญางั่วนำถุม (พ.ศ. 1833 - พ.ศ. 1890) [1]
พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) (พ.ศ. 1890 - พ.ศ. 1913)
พระมหาธรรมราชาที่ 2 (ลือไท) (พ.ศ. 1913 - พ.ศ. 1931) (ตกเป็นประเทศราชของอยุธยาในปี พ.ศ. 1921)
พระมหาธรรมราชาที่ 3 (ไสยลือไท) (พ.ศ. 1931 - พ.ศ. 1962)
พระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) (พ.ศ. 1962 - พ.ศ. 1981)
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ
พระยายุทธิษฐิระ (พ.ศ. 1991 - พ.ศ. 2011) (เป็นประเทศราชล้านนาในปี พ.ศ. 2011) [2]
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 2011 - พ.ศ. 2031) (สถาปนา และประทับ ณ พิษณุโลก จนสิ้นรัชกาล)
พระเชษฐาธิราช (พ.ศ. 2031 - พ.ศ. 2034) (ตำแหน่งพระมหาอุปราช)
พระอาทิตยวงศ์ (พระหน่อพุทธางกูร) (พ.ศ. 2034 - พ.ศ. 2072) (ตำแหน่งพระมหาอุปราช)
พระไชยราชา (พ.ศ. 2072 - พ.ศ. 2077) (ตำแหน่งพระมหาอุปราช)
ราชวงศ์สุโขทัย
พระมหาธรรมราชา (ขุนพิเรนทรเทพ) (พ.ศ. 2077 - พ.ศ. 2111) (เจ้าราชธานีฝ่ายเหนือ)
พระนเรศวร (หลังเสด็จกลับจากหงสาวดี - พ.ศ. 2127) (ตำแหน่งพระมหาอุปราช) [3]

หมายเหตุ
พญางั่วนำถุม น่าจะมาจากสายราชวงศ์นำถุม มากกว่าราชวงศ์พระร่วง ----> อภิปราย
พระยายุทธิษฐิระ ครองศรีสัชนาลัย ซึ่งขณะนั้นมีฐานะเป็นเมืองสำคัญเหนือกว่าพิษณุโลก
ราชการสงครามในสมัยสมเด็จพระนเรศวร หอมรดกไทย กองทัพบก

ไม่มีความคิดเห็น: